จุดเด่นผลิตภัณฑ์ Canon EF 24-105mm f/4L IS II USM Lens
- เลนส์ EF-Mount L-Series/Full-Frame Format
- รูรับแสง : f/4 – 22
- ชิ้นเลนส์พิเศษGMo 4ชิ้น
- เคลือบผิว Air Sphereลดแสงแฟร์และฟลูออไรต์กันหยดน้ำเกาะ
- ระบบโฟกัส วงแหวน USM
- มีระบบกันสั่น Optical
- กระบอกเลนส์ กันละอองน้ำ กันฝุ่น
- ม่านรูรับแสง 10กลีบ
รีวิว EF24-105mm f/4L IS II USM: การทดสอบเลนส์ในการถ่ายภาพแนวสตรีท
EF24-105mm f/4L IS USM เลนส์ซูมมาตรฐานปรับปรุงใหม่ที่มีความสามารถรอบตัวได้รับความนิยมอย่างล้นหลามนับตั้งแต่ออกวางจำหน่ายควบคู่กับ EOS 5D รุ่นแรกเมื่อ 11 ปีก่อนในปี 2005 ครั้งนี้เลนส์น้องใหม่ EF24-105mm f/4L IS II USM มาพร้อมดีไซน์โฉมใหม่พร้อมการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน ในบทความนี้ เราจะมาดูว่าเลนส์รุ่นใหม่นี้มีอะไรมานำเสนอบ้าง (เรื่องโดย Kazuo Nakahara)
เลนส์ซูมใหม่ที่รอคอยกันมานานพร้อมความสามารถที่รอบด้านมากขึ้น
เมื่อผมค้นดูภาพต่างๆ ที่เคยถ่ายไว้ในฐานะช่างภาพมืออาชีพ ผมสังเกตว่าเลนส์ที่ผมใช้งานบ่อยมากที่สุดคือเลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM
ผมได้ถ่ายภาพแนวสตรีทไว้เป็นจำนวนมากและเลนส์นี้ช่วยให้ผมถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายด้วยเลนส์เพียงตัวเดียว ดังนั้น เมื่อได้ยินข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับเลนส์ ผมจึงอดตั้งตารอคอยไม่ได้ว่าเลนส์น้องใหม่นี้จะมีอะไรมานำเสนอบ้าง หลังจากได้ทดสอบถ่ายภาพโดยใช้เลนส์คู่กับกล้อง EOS 5D Mark IV ความละเอียด 30.4 ล้านพิกเซลแล้ว ผมรู้สึกดีใจที่ได้ทราบว่า EF24-105mm f/4L IS II USM สามารถแสดงพลังการถ่ายทอดภาพของกล้อง DSLR ความละเอียดสูงออกมาได้อย่างดีเยี่ยม
ในตอนแรก ผมมีข้อกังขาอยู่บ้างเมื่อทราบว่าเลนส์รุ่นนี้ไม่ได้รวมชิ้นเลนส์ UD ซึ่งเป็นเลนส์ที่เคยใช้ในรุ่นก่อนหน้านี้ (EF24-105mm f/4L IS USM) เอาไว้ แต่เมื่อนำมาทดสอบถ่ายภาพกลับพบว่าปัญหาความคลาดสีได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น และมีการแก้ไขปัญหาที่บริเวณขอบภาพด้วยการใช้เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความสามารถของระบบป้องกันภาพสั่นไหวยังได้รับการพัฒนาจาก 1.5 สต็อป ขึ้นมาเทียบเท่าที่ประมาณ 4 สต็อป เราจึงสามารถเปลี่ยนภาพถ่ายที่แสดงขึ้นในช่องมองภาพพร้อมกับขยับกล้องไปมาได้อย่างราบรื่น ซึ่งให้ความรู้สึกที่เพลิดเพลินอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเวลาที่คุณแพนกล้อง ผมจึงรู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก เพราะนี่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาของเลนส์ไม่ได้มีเพียงแง่ของสเปคเพียงอย่างเดียว
EOS 5D Mark IV/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/320 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
จุดเด่นอย่างหนึ่งของเลนส์รุ่นนี้คือ ให้ผลภาพที่น่าพึงพอใจทั้งในระยะมุมกว้างที่ 24 มม. และในระยะเทเลโฟโต้ที่ 105 มม. ดังเช่นในภาพตัวอย่างด้านบนนี้ ผมสามารถถ่ายภาพทั้งเรือและท้องฟ้าสีฟ้าไว้ได้ พร้อมกับมีอาคารขนาดมหึมาเป็นตัวแบบหลัก โดยใช้ทางยาวโฟกัส 24 มม. อีกทั้งทั่วทั้งภาพยังมีความละเอียดคมชัดอีกด้วย
ความไวในการโฟกัสสูงและไร้ที่ติ การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่โดดเด่นคือ ม่านรูรับแสงจำนวน 10 กลีบ ซึ่งเป็นจำนวนคู่ หากเรามองดูเลนส์ซูมมาตรฐานที่วางจำหน่ายในท้องตลาด รวมถึงจากผู้ผลิตรายอื่นๆ เลนส์นี้อาจเป็นเลนส์เพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ม่านรูรับแสงเป็นจำนวนคู่ ซึ่งสำหรับการถ่ายภาพยามค่ำคืนที่การสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสงมักเป็นองค์ประกอบสำคัญ เลนส์นี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากม่านรูรับแสงจำนวนคู่จะช่วยลดจำนวนแนวเส้นแสงที่เกิดขึ้น และช่วยให้เราสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของเอฟเฟ็กต์แฉกแสงได้อย่างชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เกิดจากเลนส์ยังมีเส้นขอบที่นุ่มนวลมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสื่อถึงความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น
EOS 5D Mark IV/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/2,500 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยต่อการถ่ายภาพ เพราะขณะนั้นท้องฟ้าแจ่มใสและมีแสงแดดจ้าอยู่ในองค์ประกอบภาพ อย่างไรก็ดี เลนส์สามารถป้องกันแสงหลอกที่เห็นได้ชัด พร้อมทั้งช่วยเกลี่ยแสงที่เนียนสวยให้กับท้องฟ้าจากสีขาวเป็นสีฟ้าได้ นอกจากนี้ แสงแฟลร์ยังลดลงและสีสันของดอกดาวกระจายยังถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม
EOS 5D Mark IV/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/256 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ในภาพนี้ผมตั้งโฟกัสไว้บนดอกไม้ที่อยู่ใกล้กับกล้อง แล้วเบลอภาพทั้งในส่วนโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์โดยใช้ค่ารูรับแสงกว้าง โครงร่างของเอฟเฟ็กต์โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์จึงดูเป็นธรรมชาติและเรียบเนียน ขณะที่โบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์ที่มุมล่างซ้ายของภาพดูนุ่มนวล และช่วยเน้นความโดดเด่นให้กับตัวแบบหลัก
เลนส์ใหม่นี้ได้รับการผลิตให้มีความทนทานมากขึ้น ระหว่างที่ใช้งานจึงรู้สึกถึงความแข็งแรงมั่นคงขึ้นยิ่งกว่าเดิม ผมรู้สึกกังวลว่าน้ำหนักของเลนส์อาจทำให้ท่อเลนส์มีโอกาสเคลื่อนไหวได้ช้า อย่างไรก็ดี เลนส์สามารถหยุดตรงจุดที่ผมต้องการได้ในระหว่างการซูม และยังมีการเพิ่มก้านล็อควงแหวนซูมแบบใหม่เพื่อช่วยให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น แรงบิดของทั้งวงแหวนซูมและวงแหวนโฟกัสยังอยู่ในระดับพอประมาณและทำงานได้อย่างราบรื่น และนอกจากเลนส์จะมีโครงสร้างแบบกันน้ำและฝุ่นแล้ว ยังมีการเคลือบฟลูออไรต์หนึ่งชั้นเพื่อให้ทนทานต่อสภาพการใช้งานที่รุนแรงอีกด้วย
เราลองมาดูกันให้ชัดๆ ว่าเลนส์นี้มีจุดเด่นหลักอย่างไรบ้าง
#1: แสงหลอกและแสงแฟลร์ลดลงด้วยเทคโนโลยีการเคลือบแบบใหม่ของ Canon
EF24-105mm f/4L IS II USM มี Air Sphere Coating (ASC) ใหม่ที่สามารถลดแสงแฟลร์และแสงหลอกอย่างได้ผล ขณะที่รุ่นก่อนหน้าอย่าง EF24-105mm f/4L IS USM มักเกิดแสงหลอกสีสันต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์เมื่อถ่ายแหล่งกำเนิดแสงที่สว่างจ้า แต่ปัญหานี้ลดลงไปอย่างมากในเลนส์รุ่นใหม่ และเมื่อเทียบกับเลนส์รุ่นก่อนหน้าแล้ว การป้องกันแสงแฟลร์ยังได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงช่วยป้องกันไม่ให้ความเปรียบต่างที่บริเวณรอบแหล่งกำเนิดแสงลดลง นอกจากคุณจะได้เพลิดเพลินกับภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่สวยคมชัดแล้ว ภาพที่มีแสงย้อนในส่วนแบ็คกราวด์ยังสวยสดงดงามไม่แพ้กัน นอกจากนี้ ฮูดเลนส์ยังมาพร้อมกับก้านล็อคแบบใหม่อีกด้วย
EF24-105mm f/4L IS II USM EF24-105mm f/4L IS USM
เมื่อผมถ่ายภาพนี้ด้วยเลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM เราจะเห็นแสงหลอกรอบๆ ดวงอาทิตย์ได้อย่างชัดเจน แต่ปัญหาเดียวกันนี้จะไม่เกิดขึ้นเมื่อใช้เลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM นอกจากแสงหลอกแล้ว เรายังเห็นแสงแฟลร์ที่บริเวณใกล้กับกึ่งกลางภาพเมื่อใช้ EF24-105mm f/4L IS USM ซึ่งทำให้ความเปรียบต่างของดอกดาวกระจายลดลง
#2: แสดงรายละเอียดภาพทั้งภาพได้อย่างสมจริงพร้อมแนวเส้นต่างๆ ที่คมชัด
เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ EF24-105mm f/4L IS II USM มีพลังการถ่ายทอดภาพในรายละเอียดที่สูงกว่าตลอดทั้งช่วงการซูม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคลาดทรงเบี้ยวที่บริเวณขอบภาพรวมถึงความคลาดสี (ปัญหาสีเพี้ยน) จะลดลงอย่างมาก โดยในการทดสอบถ่ายภาพครั้งนี้ ผมพบว่าพลังการถ่ายทอดภาพของเลนส์ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมากตั้งแต่ทางยาวโฟกัสมาตรฐานจนถึงทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ พร้อมทั้งสามารถแก้ไขรายละเอียดต่างๆ ที่เห็นได้ชัดเมื่อใช้ค่ารูรับแสงกว้่างสุด นอกจากนี้ เมื่อใช้ EF24-105mm f/4L IS USM เลนส์มักจะแสดงลายเส้นที่บางให้ดูหนาขึ้น แต่เมื่อใช้ EF24-105mm f/4L IS II USM เลนส์สามารถถ่ายทอดลายเส้นได้อย่างคมชัดและสมจริง จึงทำให้ได้ภาพถ่ายที่ละเอียดคมชัดเมื่อนำมาใช้งานร่วมกับกล้องความละเอียดสูง ซึ่งการพัฒนานี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมสี่ชิ้นที่ช่วยแก้ไขปัญหาความคลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
การวางชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลม 4 ชิ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
A: ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมแบบหล่อแก้วสองด้านที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่
B: ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมแบบหล่อแก้ว
ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมสี่ชิ้น ซึ่งรวมถึงชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมแบบหล่อแก้วสองด้านที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่หนึ่งชิ้นซึ่งเป็นองค์ประกอบชิ้นที่สี่ ได้รับการจัดวางอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดความบิดเบี้ยว การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพของภาพถ่ายที่บริเวณขอบภาพตลอดทั้งช่วงการซูม
ถ่ายทอดที่ระยะ 24 มม.
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 5D Mark IV/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ถ่ายทอดที่ระยะ 50 มม.
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 5D Mark IV/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (EV+0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ถ่ายทอดที่ระยะ 105 มม.
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 5D Mark IV/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (EV-0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
#3: เอฟเฟ็กต์แฉกแสงที่คมชัดยิ่งขึ้นพร้อมด้วยม่านรูรับแสง 10 กลีบ
EF24-105mm f/4L IS II USM คือหนึ่งในเลนส์ไม่กี่รุ่นที่สามารถสร้างแฉกแสงได้ถึง 10 แฉก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทรนด์สำคัญของเลนส์ คือ การใช้จำนวนม่านรูรับแสงเป็นจำนวนคี่ ซึ่งสามารถสร้างประกายแฉกแสงในจำนวนที่มากกว่าจำนวนกลีบม่านรูรับแสงถึงสองเท่า ตัวอย่างเช่น รูรับแสงแบบเก้ากลีบสามารถสร้างประกายแฉกแสงได้ถึง 18 แฉก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ภาพทิวทัศน์กลางคืนมีองค์ประกอบภาพที่รกเกินไป ด้วยเลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM ซึ่งมีจำนวนม่านรูรับแสงเป็นจำนวนคู่ (10) จำนวนแฉกแสงที่ได้จะเท่ากับจำนวนกลีบของรูรับแสง และในขณะเดียวกัน เอฟเฟ็กต์แฉกแสงที่ได้ยังคมชัดและสวยงามมากกว่าเมื่อเทียบกับเลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM
เมื่อเปรียบเทียบกับเอฟเฟ็กต์แฉกแสงที่เกิดจากเลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM แฉกแสงจำนวน 10 แฉกที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงแต่ละประเภทจะคมชัดและละเอียดขึ้นกว่าในภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM เอฟเฟ็กต์แฉกแสงจะชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อคุณลดขนาดรูรับแสงให้แคบลง แต่ขอแนะนำให้ใช้ค่าระหว่าง f/13 ถึง f/16 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกระจายแสงซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คุณภาพของภาพถ่ายลดลง
#4: ปัญหาขอบมืดได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยการวางชิ้นเลนส์อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าปัญหาขอบมืดคือปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในเลนส์ซูมทุกประเภทเมื่อใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ระยะมุมกว้าง แต่ปัญหานี้ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นอย่างมากในเลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM เมื่อเทียบกับเลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM โดยปกติแล้ว เราจะสังเกตเห็นปัญหาขอบมืดได้ยาก เนื่องจากกล้องมีการนำคุณสมบัติการแก้ไขมาใช้โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี หากเราถ่ายภาพโดยใช้ความไวแสง ISO สูง และทำการชดเชยแสงเพื่อทำให้ภาพสว่างขึ้น อาจทำให้คุณภาพของภาพที่มุมทั้งสี่ของภาพลดลง ในเลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM จึงมีการจัดการปัญหาขอบมืดนี้ในแบบออพติคอลโดยการวางชิ้นส่วนเลนส์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาคุณภาพของภาพถ่ายที่ด้อยลง
เมื่อตั้งค่าการแก้ไขแสงสว่างบริเวณขอบภาพเป็น “ไม่ใช้งาน” เราจะสามารถบอกความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายที่เกิดจากเลนส์ทั้งสองชนิดได้อย่างง่ายดาย ขณะที่เราสังเกตเห็นขอบมืดที่มุมทั้งสี่ของภาพเมื่อใช้เลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM แต่ในเลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM ขอบมืดจะลดน้อยลง ดังนั้น คุณจึงสามารถถ่ายภาพได้ง่ายยิ่งขึ้นเมื่อใช้เลนส์รุ่นใหม่นี้ แม้ว่าจะเปิดรูรับแสงให้กว้างก็ตาม
EOS 5D Mark IV/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/200 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ผมถ่ายภาพระยะใกล้ของดอกไม้ดอกเล็กๆ ที่อยู่บนต้นซากุระในเดือนธันวาคม กำลังขยายสูงสุดของเลนส์ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเล็กน้อย และมีโอกาสน้อยมากๆ ที่คุณจะพบกับความยุ่งยากในการถ่ายภาพตัวแบบในระยะใกล้ตามต้องการเมื่อใช้เลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM ในระยะเทเลโฟโต้ นอกจากนี้ ในบริเวณที่เอฟเฟ็กต์โบเก้มีความเปรียบต่างสูง เช่น กิ่งก้านของต้นไม้ ยังดูไม่โดดเด่นมากจนเกินไปอีกด้วย
EOS 5D Mark IV/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/320 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ผมตั้งค่าเลนส์ไว้ที่ 105 มม. เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่บีบอัดระยะห่างระหว่างราวกั้นในส่วนโฟร์กราวด์ คนเดินถนน และอาคารในส่วนแบ็คกราวด์ การจะได้เอฟเฟ็กต์ตามที่ต้องการด้วยเลนส์ 24 – 70 มม. อาจไม่ใช่เรื่องง่าย และผมอาจพลาดโอกาสในการถ่ายภาพนี้หากผมต้องเปลี่ยนเลนส์ ดังนั้น เลนส์ที่ให้ทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ได้สูงถึง 105 มม. จึงมีประโยชน์มากมายอย่างเห็นได้ชัด
EOS 5D Mark IV/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/400 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ในตัวอย่างนี้ ผมพยายามแสดงให้เห็นถึงความสูงของตึกระฟ้าโดยการตั้งค่าเลนส์ไว้ที่ระยะมุมกว้าง และผมยังลองเล่นกับเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงด้วยการใช้มุมกว้างที่ 24 มม. โดยจุดสำคัญอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟ โดยการขยับเข้าไปใกล้ตัวแบบให้มากที่สุดและถ่ายภาพที่มุม
ที่มา : snapshot.canon-asia.com
thanes2202 –
เลนส์คิททีมีคุณภาพดีระดับใช้ได้เลย ได้ช่วงwide ถึง tele