จุดเด่นผลิตภัณฑ์
- เลนส์ EF-Mount/รูปแบบ Full-Frame
- รูรับแสง: f/2.8 – 22
- ระยะโฟกัสต่ำสุดที่ 28 ซม.
- องค์ประกอบชิ้นเลนส์พิเศษ 3Aspherical และ 2UD
- เคลือบผิวเลนส์แบบ Subwavelength และ Air-Sphere Coatings
- มอเตอร์โฟกัส Ultra Sonic Motor
- ระบบโฟกัสภายใน
- เคลือบผิวเลนส์ฟลูออไรต์กันฝุ่นและละอองน้ำ
- กระบอกเลนส์ออกแบบป้องกันนํ้าและฝุ่นละออง
- ม่านรูรับแสง 9ใบ
EF16-35mm f/2.8L III USM: ความละเอียดที่ขอบภาพที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ EF16-35mm f/2.8L II USM เลนส์ที่ได้ัรับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มช่างภาพมือสมัครเล่นและมืออาชีพเปิดตัวไปเมื่อปี 2007 ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตั้งแต่นั้นมา แฟนๆ ก็ตั้งตารอคอยให้เลนส์รุ่นใหม่ออกวางตลาด และแล้วในที่สุดก็ถึงเวลา เมื่อในปี 2016 มีการวางจำหน่ายเลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM ที่พัฒนาความละเอียดที่บริเวณขอบภาพตลอดทั้งช่วงการซูม เราจึงได้ลองทดสอบเลนส์ตัวใหม่นี้และต่อไปนี้คือรายงานของเรา (เรื่องโดย GOTO AKI)
เป็นเวลา 10 ปีแล้วนับตั้งแต่ EF16-35mm f/2.8L II USM (ฉบับภาษาอังกฤษ) ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ในขณะนั้น กล้องต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแง่ของความละเอียดของภาพ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าเลนส์รุ่นเก่าไม่สามารถรองรับกล้องรุ่นใหม่ที่มีจำนวนพิกเซลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ผู้ใช้ EOS มากมายต่างเฝ้ารอคอยการเปิดตัวของ EF16-35mm f/2.8L III USM อย่างใจจดใจจ่อ
ผมได้ทราบว่าเลนส์ตัวใหม่นี้มีการพัฒนาที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเลนส์รุ่นก่อนหน้านี้ได้ ตัวอย่างเช่น สามารถกันรอยเปื้อนได้ดียิ่งขึ้น และไม่สูญเสียความละเอียดที่ขอบภาพ รวมถึงป้องกันแสงแฟลร์และแสงหลอกเมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงย้อนได้ดียิ่งขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผมเฝ้ารอคอยที่จะได้สัมผัสด้วยตัวเองมากที่สุด เมื่อผมพกพาเลนส์ออกไปถ่ายภาพ
ภาพรวม
เลนส์แสดงรายละเอียดของทิวทัศน์ได้อย่างคมชัดจนถึงบริเวณขอบภาพ
เมื่อใช้เลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM กับกล้อง EOS 5D Mark IV สิ่งแรกที่ผมสังเกตเห็นขณะมองผ่านช่องมองภาพคือ ความชัดเจนและความสว่างที่ดีเยี่ยมของภาพในช่องมองภาพแม้ในวันที่เมฆครึ้ม ซึ่งบ่งบอกว่าเลนส์ตัวนี้สามารถเปิดรับแสงให้ผ่านเข้าสู่เซนเซอร์ได้ดีเพียงใด อีกทั้งยังแทบไม่มีความบิดเบี้ยวหรือสีของภาพจางลงที่บริเวณขอบภาพอีกด้วย
เมื่อใช้เลนส์นี้ถ่ายภาพ ผมสัมผัสได้ด้วยตนเองถึงความละเอียดภาพที่คมชัดซึ่งเลนส์นี้สามารถมอบให้ เนื่องจากสามารถถ่ายภาพลายเส้นที่ละเอียดอ่อนที่สุดของตัวแบบได้ เลนส์นี้ช่วยถ่ายทอดความงามในทุกอณูไปจนถึงขอบภาพ โดยไม่เกิดร่องรอยความบิดเบี้ยวหรือความคลาดสีที่เห็นได้อย่างชัดเจนแต่อย่างใด แม้แต่ในฉากที่เลนส์รุ่นก่อนหน้ามีแนวโน้มว่าจะเกิดความคลาดเลนส์ก็ตาม
ผมรู้สึกยินดีมากที่ได้ถ่ายภาพด้วยเปอร์สเปคทีฟที่เป็นแบบฉบับเฉพาะและได้ภาพถ่ายคุณภาพสูง ซึ่งในเลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM มีให้เลือกใช้งานตั้งแต่ค่า f/2.8 เป็นต้นไป
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/8 วินาที, EV+0.7)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ถ่ายที่ 16 มม. และ f/2.8 ภาพนี้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีร่องรอยของสีที่จางลงหรือรอยเปื้อนที่บริเวณขอบภาพ และสามารถแสดงรายละเอียดได้ดีแม้แต่ในบริเวณที่มีโบเก้ นอกจากนี้ ยังสามารถจับรายละเอียดเล็กๆ ของต้นไม้ได้เป็นอย่างดีและได้รับการแก้ไขให้คมชัด แม้ว่าในป่าจะมืด
แสดงรายละเอียดที่ค่า f/8 ได้ดี แต่เลนส์โดดเด่นอย่างแท้จริงที่ทางยาวโฟกัสใกล้กับค่า 35 มม.
ผมพบว่าภาพที่ถ่ายที่ค่าประมาณ f/8 จะสามารถแสดงรายละเอียดของฉากทิวทัศน์ได้ดีเป็นพิเศษ EF16-35mm f/4L IS USM มักได้รับการยกย่องว่ามีประสิทธิภาพเทียบเคียงได้กับ EF16-35mm f/2.8L II USM ในแง่ของคุณภาพในการถ่ายทอดภาพ แต่เมื่อคุณเปรียบเทียบภาพที่ถ่ายที่ทางยาวโฟกัส 16 มม. ของเลนส์นี้กับภาพที่ถ่ายโดยใช้การตั้งค่าแบบเดียวกันใน EF16-35mm f/2.8L III USM ปรากฏว่าเลนส์รุ่นใหม่นี้มีเอฟเฟ็กต์ขอบมืดที่เกิดขึ้นทีละน้อยมากกว่า พร้อมทั้งมีข้อดีที่เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อถ่ายที่ค่า f/8
อย่างไรก็ดี เลนส์จะโดดเด่นอย่างแท้จริงที่ทางยาวโฟกัสประมาณ 35 มม. (ใกล้กับมุมรับภาพมาตรฐาน) ที่ทางยาวโฟกัสในระดับนี้ คุณจะสามารถเข้าใกล้ตัวแบบและได้โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ที่สวยงามและนุ่มนวล ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆ ดูโล่งกว้าง และเป็นการใช้คุณลักษณะเฉพาะของเลนส์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (ม่านรูรับแสงทรงกลมแบบ 9 กลีบ ระยะการถ่ายภาพต่ำสุดที่ 28 ซม. และกำลังขยาย 0.25 เท่า) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่จุดที่ 3 ด้านล่าง)
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/80 วินาที, EV-0.7)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ภาพระยะใกล้ที่ถ่ายห่างออกไป 28 ซม. (ระยะการถ่ายภาพต่ำสุด) เอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงที่ออกมาในภาพ ซึ่งคุณคาดหวังจากเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์และโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์จะช่วยถ่ายทอดความรู้สึกโล่งกว้างได้เป็นอย่างดี ผมตั้งใจวางใบไม้ไว้ที่มุมล่างซ้ายของภาพ ลองสังเกตดูว่ารูปร่างของใบไม้ไม่บิดเบี้ยวเลย
การเคลือบฟลูออไรต์ที่กันฝุ่นและละอองน้ำที่เลนส์ทำให้การถ่ายภาพในวันฝนพรำเป็นเรื่องง่าย
สถานที่ถ่ายภาพมีฝนตกปรอยๆ และเราทุกคนทราบดีว่าการเปลี่ยนเลนส์ในสภาพอากาศเช่นนั้นเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เลนส์สกปรกได้ แต่เพราะการเคลือบฟลูออไรต์ที่กันฝุ่นและละอองน้ำที่ตัวเลนส์ เพียงแค่ใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดเอาสิ่งสกปรกออกเท่านั้น ผมก็สามารถกลับไปถ่ายภาพต่อได้แล้ว แม้เลนส์รุ่นใหม่นี้จะไม่ได้มีการอัปเกรดสเปกที่หวือหวามากนัก แต่ในฐานะช่างภาพที่พยายามจับภาพจังหวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในธรรมชาติ ผมรู้สึกชื่นชมคุณสมบัตินี้ไม่น้อย
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/320 วินาที, EV+0.3)/ ISO 800/ WB: แสงแดด
ภาพนี้ถ่ายในขณะที่ฝนตกปรอยๆ แต่คุณภาพของภาพยังคงดีเยี่ยมตั้งแต่บริเวณกึ่งกลางภาพไปจนถึงขอบภาพโดยไม่เกิดความบิดเบี้ยว แม้แต่คลื่นที่บริเวณด้านล่างขวาของภาพยังถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม และเนื่องจากเลนส์นี้สามารถกันฝุ่นและละอองน้ำได้ ดังนั้น การที่มีฝนตกเล็กๆ น้อยๆ จึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
ภาพถ่ายในสภาวะย้อนแสงส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องแสงหลอกและแสงแฟลร์
ในวันสุดท้ายของทริปถ่ายภาพของผม ในที่สุดดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า ผมจึงสามารถถ่ายภาพในสภาวะย้อนแสงได้สองถึงสามภาพ ปกติแสงแฟลร์และแสงหลอกมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในสภาวะดังกล่าว แต่ผมรู้สึกทึ่งที่ภาพถ่ายส่วนใหญ่ยังดูคมชัด เพราะ EF16-35mm f/2.8L III USM ใช้เทคโนโลยีออพติคอลที่ทันสมัย ทำให้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานร่วมกับกล้องความละเอียดสูงอย่าง EOS 5DS, EOS 5DS R และ EOS 5D Mark IV ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกล้องที่วางจำหน่ายในระหว่างปี 2015-16 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่จุดที่ 2 ด้านล่าง)
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/800 วินาที, EV-0.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพนี้ถ่ายโดยใช้แสงย้อนในยามเย็น ซึ่งเป็นสภาวะที่มีแนวโน้มจะเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอกได้ แต่เทคโนโลยีการเคลือบ ASC และ SWC ทำให้ไม่มีแสงแฟลร์เกิดขึ้นและมีแสงหลอกที่ต่ำมาก โดยรวมแล้ว ประสิทธิภาพในสภาวะแสงย้อนจึงถือว่าพัฒนาจากรุ่นก่อนหน้านี้คือ EF16-35mm f/2.8L II USM
ข้อสังเกตโดยละเอียด
จุดที่ #1: คุณภาพของภาพเมื่อใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ระยะมุมกว้าง 16 มม. พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก
เลนส์นี้มีการใช้ชิ้นเลนส์ชนิดพิเศษมากมาย จึงทำให้ได้คุณภาพของภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยมจนถึงขอบภาพตลอดทั้งช่วงการซูมสำหรับภาพที่ถ่ายโดยใช้รูรับแสงกว้างสุด ในขณะเดียวกันก็รักษารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวแบบไว้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังแสดงสีสันได้อย่างมีสดใสมีชีวิตชีวาอีกด้วย ส่วนในเรื่องปัญหาขอบมืดนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ EF16-35mm f/4L IS USM ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมในด้านนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ปรากฏว่า EF16-35mm f/2.8L III USM มีข้อได้เปรียบกว่า
การใช้เลนส์ชนิดพิเศษช่วยป้องกันความคลาดแบบต่างๆ ได้
ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมแบบหล่อแก้ว (GMo) สองด้านเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ 2 ชิ้น และชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแบบเจียรและขัดผิว 1 ชิ้น ที่ด้านหลังของโครงสร้างเลนส์จะช่วยป้องกันความบิดเบี้ยว ภาพบิดเป็นเส้นโค้ง และความคลาดทรงเบี้ยวได้ ความคลาดสีแนวทแยงซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นด้วยเลนส์มุมกว้างจะลดลงด้วยการใช้ชิ้นเลนส์ความคลาดแสงต่ำเป็นพิเศษ (UD) จำนวน 2 ชิ้น
ถ่ายที่ระยะ 17 มม.
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย EOS 5D Mark IV/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (EV+1.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ถ่ายที่ 35 มม.
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 5D Mark IV/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
จุดที่ #2: เทคโนโลยีการเคลือบใหม่ล่าสุดลดการเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอกได้อย่างทั่วถึง
ภาพถ่ายที่รวมแหล่งกำเนิดแสงไว้ในภาพด้วยนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอกได้ง่าย แต่ปัญหาเหล่านี้ลดลงโดยสิ้นเชิงในเลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM เพราะมีการใช้เทคโนโลยีการเคลือบใหม่ล่าสุดที่มีการเคลือบแบบ SubWavelength Structure (SWC) ซึ่งนำมาใช้ในชิ้นเลนส์ตัวแรก และการเคลือบแบบ Air Sphere Coating (ASC) ซึ่งนำมาใช้ในชิ้นเลนส์ตัวที่สอง นอกจากนี้ เลนส์อีกรุ่นหนึ่งที่มีชิ้นเลนส์ที่ใช้เทคโนโลยีการเคลือบทั้งสองแบบดังกล่าวคือ EF11-24mm f/4L USM
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 5D Mark IV/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1.3 วินาที, EV-0.7)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
จุดที่ #3: f/2.8 ทำให้ได้โบเก้ที่งดงามและนุ่มนวล
แม้ว่าเลนส์ชนิดนี้เป็นเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ แต่สามารถสร้างโบเก้ที่สวยงามได้เมื่อคุณถ่ายภาพที่ทางยาวโฟกัส 35 มม. ด้วยระยะการถ่ายภาพต่ำสุดที่ 28 ซม. เลนส์มีรูรับแสงทรงกลมที่มีม่านรูรับแสง 9 กลีบ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเลนส์รุ่นก่อนหน้านี้ และเมื่อทำงานร่วมกับความละเอียดคมชัดที่ค่า f/2.8 จึงทำให้ได้เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่ค่อยๆ นุ่มนวลขึ้นเรื่อยๆ ขยายไปจนถึงขอบภาพ แต่ไม่ทำให้ภาพมีสีจางลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ลายเส้นในพื้นที่ระยะโฟกัสยังถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเอียดประณีต ซึ่งความเปรียบต่างนี้เองเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความงดงามให้กับวงกลมโบเก้อีกด้วย
ม่านรูรับแสงส่งผลต่อรูปร่างของโบเก้อย่างไรบ้าง อ่านได้จากบทความนี้:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #8: ส่วนใดที่ควรโฟกัสเพื่อให้ได้ภาพถ่ายวงกลมโบเก้ที่สวยงาม
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 5D Mark IV/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/200 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/800 วินาที, EV-0.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ผมถ่ายภาพนี้จากบนเรือที่วิ่งด้วยความเร็วสูง เมื่อทดสอบว่าผมสามารถเก็บรายละเอียดของคลื่นได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อถ่ายภาพที่ค่า f/2.8 และใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ผมแปลกใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่าภาพเก็บรายละเอียดได้มาก แม้ว่าจะใช้แสงที่ค่อนข้างแบนก็ตาม
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/50 วินาที, EV-0.7)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ภาพนี้เป็นภาพของดอกหอมหมื่นลี้ที่ร่วงหล่นอยู่บนม้านั่งหิน ซึ่งถ่ายที่ทางยาวโฟกัส 35 มม. ที่ระยะการถ่าย 28 ซม. ขณะเดียวกันดอกหอมหมื่นลี้ที่อยู่ในส่วนแบ็คกราวด์ยังคงเห็นได้อย่างชัดเจนแม้ว่าจะใช้ค่า f/5.6 ก็ตาม อีกทั้งรายละเอียดของม้านั่งที่ชื้นแฉะยังถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริง
ที่มา : snapshot.canon-asia.com
Reviews
There are no reviews yet.